“ของเล่น” เป็น “ของขวัญ” ช่วยเสริมพัฒนาการของเด็กแต่ละวัย

  • การเลือกซื้อของขวัญให้เด็กๆ แต่ละวัยนั้นต้องมองถึงประโยชน์ด้านพัฒนาการที่เด็ก ๆ จะได้รับ
  • ของขวัญสำหรับเด็กควรเน้นความปลอดภัย ไม่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ไม่ควรเลือกของเล่นที่ขนาดเล็กเกินไปเพราะเสี่ยงต่อการอมหรือสำลักเข้าไปอุดตันทางเดินหายใจ ซึ่งอันตรายถึงชีวิต
  • ของเล่นหรือของขวัญที่เด็ก ๆ ได้รับนั้น จะไม่สมบูรณ์เลยเพราะสิ่งที่สำคัญที่เด็กอยากได้ควบคู่กันนั้นก็คือ เวลา ความรัก ความเข้าใจ และความใส่ใจจากผู้ใหญ่หรือพ่อ แม่

ในโอกาสพิเศษไม่ว่าจะเป็นวันเกิด เทศกาลปีใหม่หรือวันเด็ก การเลือกซื้อของขวัญให้เด็กๆ ถือเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ต้องใช้การพิจารณาอย่างมาก

ส่วนใหญ่ผู้ใหญ่มักเลือกของเล่นเป็นของขวัญให้เด็กๆ โดยเลือกตามความชอบของเด็กๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วควรเน้นถึงความปลอดภัย ไม่แตกหักง่าย ไม่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ และขนาดของเล่นไม่ควรเล็กเกินไปจนเสี่ยงต่อการสำลักเข้าทางเดินหายใจ

นอกจากนี้การเลือกของเล่นนั้นควรมีประโยชน์และเป็นของเล่นที่เหมาะกับพัฒนาการในแต่ละวัยของเด็กด้วย ของเล่นที่เล่นง่ายเกินไปก็อาจทำให้เด็กเบื่อ และของเล่นที่เล่นยากเกินไปเด็กก็อาจท้อที่จะเล่นเช่นกัน ของเล่นที่เหมาะสมในเด็กแต่ละช่วงวัยนั้นแตกต่างกัน ขึ้นกับอายุและระดับพัฒนาการของเด็ก เมื่อเด็กมีความสุขและสนุกสนานไปกับของเล่นนั้นๆ จะส่งผลให้เกิดทักษะการเรียนรู้ต่างๆ เป็นพื้นฐานของพัฒนาการที่เต็มศักยภาพในอนาคต

ของเล่นที่เหมาะกับเด็กวัย 0-6 เดือน

ของเล่นที่ส่งเสริม กระตุ้นพัฒนาการ และระบบประสาทสัมผัส มีดังนี้

  • กระตุ้นการมองเห็น เด็กวัยนี้จะชอบมองของที่มีสีสันและของที่เคลื่อนไหวช้าๆ เช่น โมบายตุ๊กตาสีสดใส วัสดุบางเบาที่พริ้วตามลมได้
  • กระตุ้นการฟังเสียง เช่น ของเล่นที่เคาะ เขย่าแล้วเกิดเสียงกรุ๊งกริ๊งหรือเสียงดนตรี
  • กระตุ้นการใช้มือและปาก เด็กวัยนี้มักสำรวจสิ่งรอบตัวโดยใช้มือและปาก เช่น ของเล่นที่เป็นยางนิ่มๆ ที่เด็กสามารถเอาเข้าปากได้โดยเน้นวัสดุที่สะอาดปลอดภัย ตุ๊กตาผ้านิ่มๆ ลูกบอลเล็กสีสดที่เด็กสามารถหยิบจับไขว่คว้าได้

ของเล่นเสริมพัฒนาการ ที่เหมาะกับเด็กวัย 7-12 เดือน

เด็กวัยนี้จะเริ่มเคลื่อนไหวได้เองมากขึ้นและเริ่มมีทักษะทางภาษาดีขึ้น การเลือกของเล่นให้เด็กวัยนี้ยังต้องกระตุ้นระบบประสาทสัมผัสด้านต่างๆ โดยเสริมทักษะด้านที่ซับซ้อนขึ้น

  • ส่งเสริมให้เด็กรู้จักผิวสัมผัสต่างๆ มากขึ้น เช่น ลูกบอลที่มีผิวสัมผัสนุ่มเรียบหรือเป็นปุ่มๆ ที่เด็กจับหรือขยำได้
  • ส่งเสริมการใช้กล้ามเนื้อและฝึกการเคลื่อนไหว เช่น รถลากจูง ของเล่นที่กลิ้งได้ บล็อกไม้หรือพลาสติกขนาดใหญ่ที่เด็กสามารถต่อให้สูงหรือหยิบใส่เข้าออกภาชนะ เพื่อฝึกทักษะการใช้กล้ามเนื้อมือและขาให้แข็งแรงขึ้น
  • ส่งเสริมสติปัญญา เช่น หนังสือภาพที่มีรูปสัตว์สีสดใสอาจเป็นกระดาษแข็ง พลาสติก หรือผ้าก็ได้ การสนใจมองภาพ การหัดจับ หัดเปิดปิดหนังสือเป็นการกระตุ้นพัฒนาการ ทั้งด้านภาษาและกล้ามเนื้อมือ

ของเล่นเสริมพัฒนาการ ที่เหมาะกับเด็กวัย 1-2 ปี

วัยนี้เหมาะกับของเล่นที่เสริมพัฒนาการทางกล้ามเนื้อ การทรงตัว และด้านภาษา

  • ส่งเสริมการใช้กล้ามเนื้อ การทรงตัว เช่น รถลากจูงเล็กๆ ของเล่นไขลาน แท่งไม้หรือพลาสติกรูปทรงต่างๆ เพื่อหยิบ จับ วาง ของเล่นที่บีบ กด หรือขยำแล้วมีการเปลี่ยนรูปหรือตำแหน่ง สีไม้หรือสีเทียนเพื่อฝึกหัดจับและขีดเขียนเสริมทักษะกล้ามเนื้อมือ
  • ส่งเสริมพัฒนาการทางภาษา เช่น นิทานตามวัย สมุดรูปภาพสัตว์ สิ่งของ ฝึกให้เด็กเรียนรู้ชื่อสิ่งของต่างๆ
  • ส่งเสริมพัฒนาการสติปัญญาและการใช้มือสายตาประสานกัน เช่น กล่องหยอดรูปทรงต่างๆ

ของเล่นที่เหมาะกับเด็กวัย 2-3 ปี

เพิ่มทักษะการเรียนรู้เรื่องรอบตัว เพื่อเตรียมพร้อมก่อนเข้าโรงเรียน

  • ส่งเสริมการใช้กล้ามเนื้อต่างๆ ให้สัมพันธ์และคล่องแคล่วมากขึ้น เช่น จักรยานสามล้อ ซึ่งเด็กต้องใช้ทักษะการทรงตัว กล้ามเนื้อมือขาที่ประสานกันรวมถึงการมองเห็นด้วย ลูกปัดขนาดใหญ่ให้เด็กฝึกร้อย ช่วยฝึกสมาธิและกล้ามเนื้อมือสายตาประสานกัน
  • ส่งเสริมพัฒนาการทางภาษา เช่น นิทานตามวัยที่มีเนื้อเรื่องรูปภาพที่น่าสนใจและมีสีสัน การอ่านหนังสือกับเด็กด้วยน้ำเสียงและบรรยากาศที่สนุกสนานจะทำให้เด็กได้คำศัพท์ใหม่ๆ มากขึ้น ส่งผลดีต่อพัฒนาการโดยรวมทั้งด้านการพูดสื่อสารและด้านอารมณ์ของเด็ก
  • ส่งเสริมพัฒนาการสติปัญญา เช่น จิ๊กซอ บล็อกไม้ ก้อนไม้สีและรูปทรงต่างๆ ให้เด็กเรียนรู้การจับคู่สี รูปทรงต่างๆ และด้านการนับจำนวน
  • ส่งเสริมจินตนาการและการแก้ปัญหา เช่น ชุดของเล่นเลียนแบบของจริงเพื่อเล่นบทบาทสมมติกับเด็ก ซึ่งนอกจากสนุกแล้วเด็กยังได้เรียนรู้คำศัพท์ใหม่ๆ เพิ่มในการสื่อสารและบอกความต้องการด้วย

ของเล่นเสริมพัฒนาการ ที่เหมาะกับช่วงวัย 4-6 ปี

เด็กวัยนี้เรียนรู้เรื่องรอบตัวที่กว้างขึ้นและมีปฏิสัมพันธ์กับคนนอกบ้านมากขึ้น เช่น เพื่อนที่โรงเรียน เพื่อนบ้าน

  • ส่งเสริมการใช้กล้ามเนื้อต่างๆ คล่องแคล่วมากขึ้น เช่น จักรยาน สกูตเตอร์ ซึ่งเด็กต้องใช้ทักษะการทรงตัว กล้ามเนื้อมือขาที่ประสานกัน การได้เล่นเป็นกลุ่มช่วยเด็กเรียนรู้ทักษะทางด้านสังคมด้วย
  • ส่งเสริมความคิดจินตนาการและการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนขึ้น เช่น ชุดของเล่นเลียนแบบของจริงเพื่อเล่นบทบาทสมมติกับเด็กเป็นเรื่องราว เช่น ชุดครัว ชุดอุปกรณ์คุณหมอ ชุดเลโก้สร้างเมือง นอกจากสนุกได้คำศัพท์เพิ่ม ในขณะเล่นเด็กยังได้เรียนรู้ทักษะวางแผนและการแก้ปัญหาซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงได้ในอนาคต

ถึงแม้ว่าเด็กทุกคนจะอยากได้ของเล่น แต่ของเล่นนั้นๆ จะไม่สมบูรณ์เลยหากขาดผู้ที่จะเล่นด้วย และสิ่งที่สำคัญที่เด็กอยากได้จากผู้ใหญ่ควบคู่ด้วยกันนั้นก็คือ เวลา ความรัก ความเข้าใจ ความใส่ใจจากผู้ใหญ่ที่ดูแล

ขอบคุณบทความดีๆจาก พญ. ดวงเดือน ชินรุ่งเรือง

Translate »
error: Content is protected !!