อาการ จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล นอนกรน

อาการจาม

อาการ จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล นอนกรน หรือ ผื่นขึ้นตามตัว น้ำตาไหล ขยี้ตาบ่อยๆ ของลูกที่มีอาการเรื้อรัง เป็นๆหายๆมานาน คุณพ่อคุณแม่อย่าได้นิ่งนอนใจ อาการเหล่านี้เป็นอาการของ ‘โรคภูมิแพ้’ ที่ลูกๆ ควรจะได้รับการดูแลและการรักษา

ภูมิแพ้คืออะไร?

ภูมิแพ้เกิดจากปฏิกิริยาของภูมิคุ้มกันในร่างกายมีการตอบสนองที่มากผิดปกติต่อสารก่อภูมิแพ้ที่เข้าสู่ร่างกาย ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังที่อวัยวะต่างๆ เช่น ผิวหนัง เยื่อบุจมูก เยื่อบุตา เยื่อบุทางเดินหายใจ หรือเยื่อบุทางเดินอาหาร เป็นต้น

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภูมิแพ้ในเด็ก

  • ปัจจัยทางด้านพันธุกรรม ผู้ป่วยที่มีประวัติพ่อหรือแม่เป็นโรคภูมิแพ้ มักมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคภูมิแพ้ถึงร้อยละ 20-40 และร้อยละ 50-80 ในกรณีที่พ่อและแม่เป็นโรคภูมิแพ้ โดยที่อาจจะไม่ได้เป็นภูมิแพ้ชนิดเดียวกันหรือแพ้สารก่อภูมิแพ้ชนิดเดียวกัน ก็ตาม
  • ปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ร้อยละ 15 ไม่ได้มีพ่อหรือแม่ที่เป็นโรคภูมิแพ้ แต่เกิดจากการอยู่อาศัยในสิ่งแวดล้อมที่มีสารก่อภูมิแพ้อยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ไรฝุ่น แมลงสาบ การเลี้ยงสัตว์ที่มีขนในบ้าน เช่น สุนัข แมว ตลอดจนการได้รับมลพิษทางอากาศ เช่น ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ ควันจากโรงงานอุตสาหกรรม ควันบุหรี่ หรือการรับประทานนมสัตว์ เช่น วัวหรือแพะ รวมทั้งนมถั่วเหลืองในช่วงอายุ 6 เดือนแรกหลังคลอด แทนที่จะเป็นนมแม่ ก็เป็นปัจจัยเสียงที่ก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้ได้ เช่นกัน

 

โรคภูมิแพ้ในเด็กที่พบบ่อยได้แก่

  • โรคหืด เกิดจากทางเดินหายใจที่บวม ตีบแคบลง ซึ่งถูกกระตุ้นโดยปฏิกิริยาภูมิแพ้หรือสาเหตุอื่นๆ ร่วมด้วย จะมีอาการหายใจเสียงดัง “วี้ด” หอบ แน่นหน้าอก อาจเกิดอาการในตอนกลางคืน ขณะออกกำลัง หรือขณะเป็นหวัด
  • โรคเยื่อบุจมูกอักเสบภูมิแพ้ มีอาการ จาม คัน คัดจมูก มีน้ำมูกใส เป็นเรื้อรังหลายสัปดาห์ ในช่วงฤดูฝนหรือตลอดทั้งปี
  • โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง มี ผื่น คัน จนผิวหนังแดง เป็นเรื้อรัง โดยจะพบในเด็กเล็กและมีอาการมากเมื่อมีสิ่งกระตุ้น เช่น ร้อนเหงื่อออก แพ้อาหาร เป็นต้น
  • ผื่นลมพิษ จะมีอาการคัน บวม ผื่นขึ้นนูนหนาของผิวหนัง สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการแพ้ยาและอาหารบางชนิด นอกจากนี้การติดเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรียบางชนิดก็เป็นสาเหตุที่พบได้
  • แพ้อาหาร เนื่องจากเกิดปฏิกิริยาแพ้โปรตีนในอาหาร ก่อให้เกิดอาการได้หลายระบบ ได้แก่ ระบบทางเดินอาหาร จะปวดท้อง อาเจียน ท้องเสีย ถ่ายมีมูกปนเลือด อาการทางผิวหนัง มีผื่นขึ้น ลมพิษ หรือระบบทางเดินหายใจ เช่น หอบ คัดจมูก มีน้ำมูกเรื้อรัง อาหารที่พบว่าเป็นสาเหตุได้บ่อยคือ นมวัว นมถั่วเหลือง ไข่ และแป้งสาลี เป็นต้น และอาการแสดงมักจะเริ่มต้นในขวบปีแรกและมีอาการเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ
  • เยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ มีอาการแสบตา คันตา น้ำตาไหล ขยี้ตาบ่อย จนขอบตาช้ำ สีคล้ำ โดยพบบ่อยร่วมกับอาการเยื่อบุโพรงจมูกอักเสบภูมิแพ้

อาการจาม

การรักษาโรคภูมิแพ้ในเด็กต้องทำอย่างไร ?

  • หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ เพื่อให้อาการของโรคภูมิแพ้ลดน้อยลง และทำให้ผู้ป่วยสามารถลดปริมาณการใช้ยาให้เหลือน้อยที่สุด
  • ใช้ยาอย่างสม่ำเสมอและทำตามคำแนะนำของแพทย์ รวมถึงการที่ผู้ป่วยนั้นสามารถล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ และใช้ยาพ่นผ่านจมูกได้อย่างถูกต้องตามขั้นตอน ฉะนั้นแพทย์และผู้ปกครองจะต้องคอยให้ความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้อง
  • ดูแลตนเองให้มีสุขภาพกายและใจที่แข็งแรงอยู่เสมอ ผู้ปกครองควรดูแลและแนะนำผู้ป่วย โดยการให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และที่สำคัญต้องหลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้ นอกจากนั้นควรจะพักผ่อนให้เพียงพอและหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำสมอ รวมถึงหลีกเลี่ยงสิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นให้เกิดอาการได้ เช่น ควันบุหรี่ ควันท่อไอเสีย ควันจากโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น

การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง

การวินิจฉัยและการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคภูมิแพ้นั้น  นอกจากการซักประวัติและตรวจร่างกายแล้ว  ยังควรทำการทดสอบภูมิแพ้เพื่อให้ทราบว่าผู้ป่วยแพ้สารชนิดใดด้วย    ซึ่งอาจทำได้โดยการตรวจเลือด การทดสอบทางจมูก (ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้) หรือการทดสอบทางผิวหนัง โดยทั่วไปแล้วนิยมวิธีการทดสอบทางผิวหนังเพื่อหาสารก่อภูมิแพ้ (Skin Prick Test) เพราะทำได้ง่าย รวดเร็ว ให้ผลทันที เมื่อได้ทำการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังแล้วพบปฏิกิริยาในการแพ้สารใดแล้ว จะสามารถหลีกเลี่ยงได้โดยตรง อีกทั้งยังส่งผลให้การรักษาโรคดีขึ้น และทำให้ควบคุมโรคภูมิแพ้ดีมากขึ้น

การเตรียมตัวก่อนการทดสอบ

  • งดทานยาแก้แพ้ก่อนมารับการทดสอบ 7 วัน
  • ผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง ต้องแจ้งชื่อยาที่รับประทานอยู่ให้แพทย์ที่จะทำการทดสอบทราบด้วย เพราะยาบางชนิดต้องงดก่อนทำการทดสอบ
  • ยาสเตียรอยด์ชนิดทาผิวหนัง ส่งผลให้ปฏิกิริยาการทดสอบมีความไม่แน่นอน ควรงดก่อนเข้ารับการทดสอบ เช่นกัน
  • ไม่ต้องงดน้ำ งดอาหาร ก่อนมาทดสอบ

การฉีดวัคซีนโรคภูมิแพ้ทำอย่างไร ?

ในปัจจุบันการรักษาโรคภูมิแพ้ด้วยการฉีควัคซีนนั้นสามารถทำได้ในโรคภูมิแพ้ 2 โรคคือ โรคแพ้อากาศ และโรคหืด โดยแพทย์จะฉีดสารก่อภูมิแพ้ชนิดที่แพ้ให้แก่ผู้ป่วย และจะเพิ่มปริมาณสารก่อภูมิแพ้ที่ฉีดทีละน้อย เพื่อให้ร่างกายลดการตอบสนองต่อสารภูมิแพ้ดังกล่าวให้น้อยลง และอาการต่างๆ ของภูมิแพ้ก็จะลดลงไปด้วย โดยจะใช้ระยะเวลาในการฉีดทุกสัปดาห์ต่อเนื่องกันอย่างน้อย 3-5 ปี แต่หากบางรายร่ายกายไม่ตอบสนองกับการรักษาวิธีนี้ภายใน 1 ปีก็จะหยุดทำการรักษา

ข้อบ่งชี้ของผู้ป่วยในการรักษาด้วยวัคซีนภูมิแพ้

  1. ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ อันได้แก่ โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ โรคภูมิแพ้ทางตา โรคหอบหืด และโรคภูมิแพ้ผิวหนังอักเสบ ต้องได้รับการทดสอบสารก่อภูมิแพ้ทางผิวหนัง (skin prick test) หรือตรวจเลือด specific IgE เพื่อให้ทราบชนิดสารก่อภูมิแพ้ที่เป็นสาเหตุ
  2. ผู้ป่วยยังคงมีอาการของโรคภูมิแพ้อยู่ในระดับปานกลางถึงมีอาการมาก ทั้งที่ได้รับการรักษายาอย่างเหมาะสม และหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ในสิ่งแวดล้อมไม่ได้ หรือมีผลข้างเคียงจากการใช้ยาเพื่อรักษาอาการภูมิแพ้
  3. ต้องมีความสม่ำเสมอในการมารับวัคซีน เนื่องจากเป็นการรักษาที่ต่อเนื่องและใช้ระยะเวลานานอย่างน้อย 3 ปี

ชนิดของการรักษา

  1. แบบฉีดเข้าใต้ผิวหนัง (Subcutaneous immunotherapy)  สามารถฉีดสารก่อภูมิแพ้ที่เป็นสาเหตุได้มากกว่า 1 ชนิด เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ทดสอบแล้วพบว่าแพ้มากกว่า 1 ชนิด อาจมีผลข้างเคียง เช่น อาการแพ้รุนแรง (Anaphylaxis) ได้ เนื่องจากเป็นการฉีดสารก่อภูมิแพ้ที่ผู้ป่วยแพ้เข้าไปในร่างกาย
  2. แบบอมใต้ลิ้น (Sublingual immunotherapy) ในปัจจจุบัน มีการใช้ วัคซีนภูมิแพ้ ในรูปแบบการอมใต้ลิ้นเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีผลข้างเคียงน้อย  สามารถใช้แทนการฉีดยาได้ โดยพบว่าผลการรักษาใกล้เคียงกับการฉีดวัคซีนภูมิแพ้

 

วิธีการป้องกันให้เด็กๆ ห่างจากอาการภูมิแพ้

  • ไม่ควรเลี้ยงสัตว์ที่มีขนไว้ในบ้าน
  • ภายในห้องนอน ควรมีเฉพาะเครื่องนอนและของใช้ที่จำเป็น ไม่ควรสะสมหนังสือ รวมทั้งการใช้พรมทั้งในห้องและในบ้าน
  • ควรทำความสะอาดเครื่องนอน รวมไปถึงผ้าม่าน เครื่องปรับอากาศ เป็นประจำ
  • ผู้ปกครองไม่ควรสูบบุหรี่ในบ้านหรือบริเวณที่มีเด็กๆ อยู่
  • เด็กที่เป็นโรคหืด ผู้ปกครองควรให้ออกกำลังกายเป็นประจำ หากมีอาการหอบหลังการออกกำลังกาย ควรปรึกษาแพทย์เพื่อใช้ยาควบคุมอาการอย่าง สม่ำเสมอ จะป้องกันอาการหอบได้ และใช้ยาขยายหลอดลมเมื่อมีอาการ
  • กำจัดเศษอาหารและขยะต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดแหล่งเพาะพันธุ์ของแมลงสาบ

Translate »
error: Content is protected !!